(ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการคัดลอกมาจาก "ความเห็นที่มีต่อโจทย์ชุดปัจจุบัน" โดย นาย สิรวิชญ์ พงศ์นคินทร์ เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2564)

ภาคผนวก

ภาคผนวก: โจทย์ที่ดีต้องเป็นอย่างไร?

เนื่องจากว่าผมเห็นโจทย์หลาย ๆ ข้อ มาแปลก ๆ นอกแนวทางที่ผมคิดไว้ ผมจึงคิดว่าน่าจะดีถ้าผมได้มีโอกาสเขียนอธิบายว่าโจทย์แบบไหนเป็นโจทย์ที่ดี ไม่ดี หรือเป็นโจทย์ที่ผมชอบ หรือไม่ชอบ

ก่อนอื่น ผมคิดว่าการจะพูดได้ว่าโจทย์ข้อหนึ่งเป็นโจทย์ที่ดี นั้นยากเกินไป ผมจะเปลี่ยนไปพูดว่า “เป็นโจทย์ที่ไม่แย่” แทน แล้วผมจะถามคำถามที่ตอบง่ายกว่า คือ “โจทย์ที่แย่เป็นอย่างไร?” ก่อนอื่นเท่าที่ผมสังเกตมา ความแย่ของจะแบ่งออกเป็นสามระดับ ดังนี้

  1. ความไม่สร้างสรรค์ของโจทย์ (ผมขอเสนอให้พิจารณา https://ioi2021.sg/call-for-tasks/ ประกอบไปด้วยเพื่อศึกษาแนวคิดของ IOI)
  2. ความไม่ยุติธรรม (injustice) ของโจทย์ กล่าวง่าย ๆ คือ โจทย์บางข้อไม่ยุติธรรมต่อผู้เข้าแข่งขันเพราะไม่ได้เป็นการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันจากความสามารถในการเขียนโปรแกรมและแก้ปัญหาจริง ๆ ผมจะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้: โจทย์ให้ข้อจำกัดอะไรบางอย่างมา แล้ว เฉลย official solution ผ่านชุดทดสอบที่มี แต่ไม่ผ่านชุดทดสอบอื่นบางชุดที่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดมาในโจทย์ โจทย์ให้อัลกอริทึมบางตัวผ่าน และบางตัวไม่ผ่าน ทั้ง ๆ ที่ Time Complexity เท่ากัน หรือ Data structures คล้ายกัน โจทย์ยอมให้วิธีแปลก ๆ ซึ่งผิด สามารถผ่านได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรผ่าน
  3. ความไม่เท่าเทียม (unfairness) ของโจทย์ กล่าวง่าย ๆ คือ มีผู้เข้าแข่งขันบางคน ได้รับผลประโยชน์สูงกว่าผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือวิธีการที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่นโจทย์ออกมาในแนวทางที่เอื้อให้กับการเตรียมตัวของศูนย์ใดศูนย์หนึ่งเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ข้อ 2.a. บางครั้งก็อาจนับเป็นความไม่เท่าเทียมได้)

เท่าที่ผมสังเกตมาใน TOI ส่วนใหญ่จะเป็น 1. และ 2. ผมยังไม่เคยเจอกรณีของ 3. ในที่นี้ จะเห็นได้ว่า ผมเน้นย้ำเรื่องความไม่ยุติธรรมอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นได้ง่าย (โดยไม่ได้ตั้งใจ) ผมจึงพยายามทดสอบความพร้อมของโจทย์ในมุมเหล่านี้เป็นพิเศษ

ต่อมา ผมอยากเสนอแนวคิดบางอย่างเป็นพิเศษ คือ “โจทย์ที่ผมไม่ชอบ” แต่ผมขอกล่าวไว้ก่อนเลยว่าเนื้อหาเหล่านี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวผมเท่านั้น ดังนั้นจะไม่เชื่อหรือไม่สนใจก็ได้ ผมไม่คาดหวังให้ผู้อ่านเชื่อตามที่ผมคิดเต็ม 100% อยู่แล้ว

โจทย์ที่ผมไม่ชอบ หลัก ๆ คือโจทย์ที่มันออกนอกลู่นอกทาง หรือว่ามันดูล้าสมัยไป หรือว่าข้อมูลทดสอบพยายามแยกอัลกอริทึมสองแบบที่ต่างกันไม่มากจนน่าเกลียด อาจกล่าวได้ว่าโจทย์ที่ถามตรงไปตรงมา คือโจทย์ที่ผมไม่ชอบ ยกตัวอย่างเช่น จงหา shortest path บนกราฟ หรือโจทย์ที่พลิกแพลงเล็กน้อย ก็เป็นโจทย์ที่ผมไม่ชอบเช่นเดียวกัน

ถ้าให้ผมอธิบายทุกอย่างตรงนี้ จะค่อนข้างยาก ผมจะค่อย ๆ แทรกตัวอย่างประกอบไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกที

ภาคผนวก: ผมต้องการอะไรจากการช่วยงาน TOI?

ส่วนหนึ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านทราบ คือเหตุผลหลัก (หรือกล่าวได้ว่าเป้าหมาย) ของการมาช่วยงาน TOI อาจะมีส่วนที่ผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ผมอยากให้ผู้อ่านได้ลองอ่านดูคร่าว ๆ เพื่อจะได้เข้าใจผมมากขึ้น โดยผมจะขอชี้แจงเหตุผลหลัก ๆ ดังต่อไปนี้ (เรียงจากสำคัญต่อผมมากที่สุดไปหาน้อยที่สุด)

  1. แก้ปัญหา “โจทย์แย่” ใน TOI การแข่งขันที่ผ่านมาหรือ TOI16 นั้น ได้สร้างบาดแผลในจิตใจผมเป็นอย่างมาก ตัวตนผมในฐานะนักเรียนค่ายที่พึ่งได้ไปแข่งต่างประเทศ และกำลังมาช่วยค่ายโดยมาช่วยสอนที่ศูนย์ SU และ MWIT นั้นเอง มีความหวังเป็นอย่างมากที่จะส่งต่อประสบการณ์ดี ๆ ให้กับนักเรียนค่ายรุ่นถัด ๆ ไป ผมคาดหวังว่าจะสามารถทำให้นักเรียนค่าย มองเห็นความสวยงามของประสบการณ์ดี ๆ ในค่าย มองเห็นคุณค่าของการได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำโจทย์ด้วยกัน แข่งด้วยกัน ถึงแม้จะเป็นระยะเวลาช่วงสั้น ๆ และเป็นเสี้ยวที่เล็กมาก ๆ ของชีวิต ผมเตรียมการสอนโดยคาดหวังถึงการส่งต่อพลังบวกเช่นนี้จริง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง TOI16 (ซึ่งผมก็พอเดาได้แล้วว่าน่าจะมีปัญหา) ผมนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ ผมเป็นได้เพียงคนนอกที่เฝ้ามองอนาคตน้อง ๆ ที่กำลังถูกทำลายโดยเหล่ากรรมการวิชาการที่ออกแบบ “ข้อมูลทดสอบห่วย” “ข้อมูลทดสอบผิด” “ข้อมูลทดสอบเกินขอบเขต” หรือโจทย์ที่ไม่มีวิธีจริง ๆ ที่พิสูจน์ได้ในการแก้ไข (จากการตรวจสอบพบว่าโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันมีปัญหาทั้งหมด 5 ข้อจาก 6 ข้อ) ทำให้การแข่งขันครั้งนั้นเป็นบาดแผลลึกในใจผม หากผมมีโอกาสผมจะสร้างการแข่งขันที่ไม่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ผมจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะพยายามหาเส้นทางที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีกในอนาคต (นอกจากนี้ อ.นัทที ได้บอกผมมาว่าปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเล็ก ทำให้ผม “เดือด” เพราะสำหรับผมมันไม่ต่างอะไรกับการตัดอนาคตผู้เข้าแข่งขัน)

  2. พยายามดัดแปลง แก้ไข แนวทางการออกโจทย์ TOI ให้มีความสร้างสรรค์มากขึ้น เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของการแข่งขันจำพวกนี้คือการทำให้นักเรียนผู้เข้าแข่งขันมีความสนใจในตัวปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหามากขึ้น ผมอ้างอิงเป้าหมายนี้จากเป้าหมายหลักของ IOI ที่เขียนไว้ดังนี้ (https://ioinformatics.org/page/contests/10) เป้าหมายหลักของ IOI คือ สร้างความสนใจในวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับบุคคลต่าง ๆ (ในที่นี้ไม่ได้เขียนไว้แต่ผมตีความว่า นักเรียน อาจารย์ โรงเรียน ไปจนถึงระดับประเทศชาติ) ผมขอเน้นย้ำว่า เป้าหมายของ IOI ไม่ใช่การพัฒนาคุณภาพของการจัดการเรียนการสอนหรือการแข่งขันในแต่ละประเทศสมาชิก หากแต่นั่นเป็นผลพลอยได้เท่านั้น แนวคิดของผมคือ โจทย์ใน TOI ในขณะนี้เป็นโจทย์ที่ค่อนข้างน่าเบื่อ และเทียบไม่ติดกับการแข่งขันระดับชาติของประเทศอื่น ๆ และการแข่งขันระหว่างประเทศในภูมิภาคย่อย (เช่น JOI ของญี่ปุ่น, NOI ของสิงคโปร์, BOI ของ Baltic และ ฺBalkan, CEOI ของยุโรปกลาง, APIO ของเอเชียแปซิฟิก) ดังนั้นเป้าหมายของผมในข้อนี้ คือการพยายามทำให้โจทย์ TOI ปีถัด ๆ ไป เท่าที่เป็นไปได้ ลู่เข้าสู่ลู่ทางที่เป็นสากลขึ้น มีความสร้างสรรค์ น่าสนใจ และต้องสร้างความสนใจให้กับผู้ที่อ่านโจทย์ ต้องสามารถทำให้ผู้อ่านโจทย์รู้สึกอยากคิด อยากค้นคว้า อยากพัฒนาต่อ ไม่ใช่เพียงแค่ apply อัลกอริทึมที่โจทย์วัดแล้วจบ

  3. สร้างความแข็งแกร่งให้กับนักเรียนในระดับภูมิภาค หากทำการสังเกตโดยทั่วไป จะทราบได้ไม่ยากว่าการแข่งขันระดับชาติของประเทศอื่นนั้น ยากกว่าการแข่งขันระดับชาติของประเทศไทยมาก และยากในระดับที่นักเรียนที่ไปแข่งการแข่งขันระดับชาติได้คะแนนดีนั้นพร้อมที่จะเข้าไปแข่งขันระหว่างประเทศ (IOI) ได้เลยโดยไม่ต้องเตรียมการอะไรเพิ่ม นอกจากนี้หากพิจารณาวิชาอื่น ๆ ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าโจทย์ระดับชาตินั้นก็จะล้อเลียนตามระดับระหว่างประเทศโดยตรง (เช่นโจทย์ TMO จะเป็นการให้พิสูจน์อะไรบางอย่างที่ยากในระดับพอกันกับการแข่งขันระหว่างประเทศ IMO) อย่างไรก็ตาม จากการที่ผมได้แข่ง TOI13, IOI2019 และ IOI2020 ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า การแข่งขัน TOI ยังไปไม่ถึงจุดนั้น เราพยายามทดสอบความรู้อัลกอริทึมพื้นฐานใน TOI ทั้ง ๆ ที่ผู้ที่ควรรับผิดชอบการทดสอบความรู้อัลกอริทึมพื้นฐานนั้นควรจะเป็นศูนย์สอวน.แต่ละศูนย์มากกว่า การผ่านจากสอวน.คอมพิวเตอร์ค่าย 2 มาเป็นผู้แทนศูนย์ได้นั้น ผู้แทนศูนย์ควรมีความรู้ที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะทำโจทย์โดยตรงได้โดยง่ายแล้ว ไม่ควรจะให้ TOI มาทดสอบในส่วนนี้

  4. กระตุ้นกรรมการวิชาการ ให้ใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันมากขึ้น จากปัญหาต่าง ๆ ที่ผมเห็น ผมเชื่อว่ากรรมการวิชาการควรมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้เข้าแข่งขันมากกว่านี้ ผมอยากเสนอให้กรรมการวิชาการจริงจังกับการกระทำมากกว่านี้ (ผมเชื่อว่าหากกรรมการตั้งใจพอ จะไม่มีกรณีข้อมูลทดสอบห่วย ข้อมูลทดสอบผิด ข้อมูลทดสอบเกินขอบเขต หรือถึงมีก็จะมีไม่มาก ไม่เป็นปัญหาใหญ่) นอกจากการที่ผมเสนอตรง ๆ แบบนี้แล้ว ผมยังมีข้อเสนออื่นอีก ที่เห็นว่าพอจะช่วยให้การจัดการแข่งขันทำได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น (เช่นการใช้ Polygon หรือ CMS ซึ่งจะกล่าวในภาคผนวกตอนถัดไป)

  5. กระตุ้นสังคมอดีตนักเรียนค่าย ความจริงแล้ว เป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยชอบ (ถึงแม้มันจะเป็นสิทธิ์ของเขา) ที่นักเรียนค่ายจำนวนมาก เมื่อจบค่ายแล้วก็จะหนีออกไปทำอย่างอื่น บางคนก็เอาแต่หาเงิน บางคนก็ไม่ทำอะไรเลย ในส่วนนี้ผมเชื่อว่าเรามีคนพออยู่แล้ว ถ้าเรามีพละกำลังพอที่จะกลับมาพัฒนาจุดที่แย่ของค่าย การแข่งขัน และอื่น ๆ ได้นั้น กลุ่มนักเรียนค่ายจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะผลักดันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลดังนี้ ผมจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับ การสนับสนุนความสนับสนุนจากนักเรียนค่าย ซึ่งจะกล่าวไว้ในภาคผนวกถัดไป เพิ่มเติม: ผมอาจดูบ้า ๆ แต่สำหรับผมแล้วค่ายคอมก็เหมือนเป็นบ้าน เป็นครอบครัวที่เลี้ยงดูผมมาให้มีตัวตนอยู่อย่างทุกวันนี้ ดังนั้นผมจึงอยากเปิดช่องทางให้ดียิ่งขึ้น

  6. สนุก ผมอาจต้องทำอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่สำหรับผมแล้วโดยรวมการได้เตรียมโจทย์ เตรียมข้อมูลทดสอบ แต่ละครั้งนั้น มันเป็นการได้มาทำอะไรที่สนุก เหมือนเป็นงานอดิเรกหนึ่งที่ผมจะได้ทำปีละครั้งสองครั้ง แต่ผมก็ต้องระวังด้วยไม่ให้การทำอะไรแบบนี้มาดึงให้ผมเสียการเรียน

ภาคผนวก: ผมอยากเสนอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

หลังจากที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าผมต้องการอะไรจากการช่วยงาน TOI คราวนี้ผมจะพูดถึงข้อเสนอหลัก (main proposal) แล้ว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ผมได้ไตร่ตรองแล้วว่าจะเป็นผลดีต่อ TOI ดังนี้

กระบวนการออกแบบโจทย์

สำหรับกระบวนการออกแบบโจทย์นั้น ปัญหาหลักตอนนี้ที่ผมพบเห็นมีอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ โจทย์บางข้อมันผิด คือมันมีวิธีที่เร็วกว่าแต่ไม่ผ่าน หรือว่าวิธีที่เฉลยใช้นั้นมันผ่านเฉพาะในข้อมูลทดสอบที่กรรมการเตรียมไว้ แต่ไม่ผ่านในข้อมูลทดสอบอื่นที่ยังคงสอดคล้องกับเงื่อนไขอยู่ ประเด็นนี้ ปัญหาคือความไม่ยุติธรรมของโจทย์ ผมมองว่าสามารถตรวจสอบได้หากกรรมการหารือกันก่อน หรือไม่เช่นกันก็หาคนมาตรวจสอบอย่างเช่นตัวผมเอง เป็นต้น ต่อมาเป็นเรื่องของความสร้างสรรค์ของโจทย์ ที่ผมมองว่าโจทย์หลายข้อมันตกยุค บางข้อมันซ้ำกับโจทย์ที่เคยมีมาแล้ว ผมจึงออกแบบข้อเสนอมาดังนี้

  1. ตั้งอนุกรรมการนวัตกรรมโจทย์ (Problem Innovation Committee) โดยคร่าว ๆ มีขอบเขตทำงานเกี่ยวกับการออกแบบแนวคิดโจทย์ที่พยายามให้สร้างสรรค์/ทันสมัย และมีหน้าที่ตรวจสอบว่าโจทย์ในคลังนั้นซ้ำกับโจทย์เก่าข้อใดแล้วหรือไม่ กล่าวได้ว่า เป็นสภาล่างของสภาโจทย์ คอยส่งโจทย์ไปเข้าคลังเรื่อย ๆ แล้วกรรมการวิชาการจะเป็นสภาสูง คอยคัดเลือกโจทย์ของอนุกรรมการนวัตรกรรมโจทย์อีกที โดยให้อนุกรรมการนวัตกรรมโจทย์ของ TOI ปีที่ N (ค.ศ.) ประกอบด้วยผู้แทนประเทศที่ไปแข่ง IOI ในปีที่ N (ถ้าคัดเลือกเสร็จแล้ว), N-1 และ N-2 นั่นคือจะมีสมาชิกไม่เกิน 12 คนตลอดเวลา

กระบวนการเกี่ยวกับโจทย์

เมื่อแนวคิดของโจทย์ได้รับการออกแบบเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนถัดมาจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอนุกรรมการนวัตกรรมโจทย์ และกรรมการวิชาการ โดยจะมีการ review ซึ่งกันและกัน และช่วยกันปรับแก้โจทย์ จนกว่าจะพร้อม ข้อเสนอเพิ่มเติมมีดังนี้

  1. จัดการประชุมระหว่างอนุกรรมการนวัตกรรมโจทย์และกรรมการวิชาการ รายเดือนตั้งแต่ 3 เดือนก่อนแข่ง TOI จนถึงตอนแข่ง สำหรับทุกการประชุมให้อนุกรรมการและกรรมการวิชาการ ร่วมมือกันแก้ไขโจทย์ ปรับปรุง รวมถึงอาจมีการเสนอโจทย์ร่วมกันเพิ่มเติมเข้าสู่คลัง

  2. ตั้งอนุกรรมการข้อมูลทดสอบ (Testcase Committee) โดยมีขอบเขตทำงานคือ สร้างข้อมูลทดสอบให้สอดคล้องกับที่ผู้ออกโจทย์ได้เสนอไว้ (อาจมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือเสนอแนะได้) และตรวจสอบความเรียบร้อยของข้อมูลทดสอบแต่ละข้อ โดยข้อมูลทดสอบแต่ละข้อจะต้องถูกต้องตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด จะต้องครอบคลุมขอบเขตเงื่อนไขที่วางไว้ และต้องยุติธรรมกับผู้เข้าแข่งขัน โดยให้อนุกรรมการข้อมูลทดสอบ รับสมัครมาจาก อาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ และนักเรียนที่เคยแข่ง TOI แล้ว โดยรับสมัครใครก็ได้อย่างเปิดกว้าง

  3. เสนอให้ใช้เครื่องมือช่วยสร้างข้อมูลทดสอบ เช่น Polygon (https://polygon.codeforces.com/) หรือ ioi-tps (https://github.com/ioi-2017/tps) เป็นเครื่องมือช่วยเหลือสำหรับการสร้างข้อมูลทดสอบ เนื่องจากผมเชื่อว่าสามารถช่วยให้กระบวนการสร้างข้อมูลทดสอบนั้นง่ายลง สะดวกขึ้น

  4. ให้มีการใช้เครื่องมือการสร้าง PDF เช่น task-pdf-writer ที่ผมทำไว้เพื่อให้ PDF ออกมาสวยงามเรียบร้อยขึ้น

  5. การออกแบบโจทย์และข้อมูลทดสอบทั้งหมด ควรทำเสร็จภายใน 1 เดือนก่อนแข่งเป็นอย่างต่ำ ขอให้มีการตรวจสอบและส่งเสริมให้ทำให้เสร็จโดยเร็ว

กระบวนการเกี่ยวกับการแข่งขัน

ในที่นี้ขอเสนอดังนี้

  1. ให้เปลี่ยนระบบตัวตรวจจาก Fossil Grader เป็น ioi-cms (มาตรฐานระดับเดียวกับ IOI) และผมเชื่อว่ามีโอกาสมีปัญหาได้น้อยกว่า Fossil Grader ลงมาก (ทดสอบมาแล้วกับการคัดเลือกผู้แทนศูนย์โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ปี 2563 ไปแข่ง TOI16)

  2. ตั้งอนุกรรมการจัดการเกี่ยวกับระบบตัวตรวจ (Technical Committee) ผ่านการเสนอชื่อโดยกรรมการ (ผมมีบุคคลที่ขอเสนอชื่อเป็นการส่วนตัวอยู่ เป็นผู้ช่วยผมในการจัดการแข่งขันคัดเลือกสอวน.ค่าย 2 และผู้แทนศูนย์ ศูนย์โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ไปแข่ง TOI16 และการแข่งขัน THACO2020 รวมถึง TOCPC2021) โดยมีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับระบบตัวตรวจ

  3. ให้มีการจัดทำ โจทย์ เฉลย และ ข้อมูลทดสอบ อย่างเป็นทางการและเผยแพร่สู่สาธารณะ (จากที่ปัจจุบันส่งให้เพียงแต่ละศูนย์ ทางที่ดีควรเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ สอวน. ได้)

  4. ปรับให้การแสดงคะแนนที่จำกัดเฉพาะ 2 ชั่วโมงครึ่ง ขยายเป็นเปิดสาธารณะตลอดระยะเวลาการแข่งขัน เพื่อความโปร่งใส

  5. ให้มีการขยายระยะเวลาการแข่งขันจาก 3 ชั่วโมง (เป้าหมายคือเป็น 5 ชั่วโมง แต่คิดว่าค่อย ๆ ปรับจะดีกว่า) ขอเป็น 4 ชั่วโมง จะเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้าแข่งขันได้ใช้เวลาไปกับการคิดและการแก้ปัญหาใน subtask ย่อยของโจทย์

ภาคผนวก: โจทย์ตัวอย่างที่ได้รับคัดเลือก (Selected Tasks)

REDACTED

ภาคผนวก: บทส่งท้าย

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะกล่าวปิดท้ายว่า ผมยืนยันว่าผมไม่มีเจตนาร้ายต่อ TOI แต่ผมมีความต้องการอย่างมากที่จะเสนอให้เกิดการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้เองผมเห็นว่าวงการคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในไทยก็เริ่มตามไม่ทันโลกภายนอกแล้ว โลกพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี แต่เรายังหยุดอยู่ที่เดิม ก่อนจะปิดข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นนี้ผมก็ขอขอบคุณกรรมการวิชาการทุกท่าน ที่อย่างน้อยก็เสียสละเวลาอันมีค่ามาช่วยกันทำให้งานนี้ดีขึ้น ตัวผมเองนั้นไม่อาจพูดได้ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลง TOI ด้วยตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากสนับสนุนเต็มที่ให้เกิดการพัฒนา ให้ค่ายคอม สถานที่และสังคมอันเป็นที่รักของผม อยู่ต่อไป และพัฒนาอย่างยั่งยืน