เอาล่ะ โอเค ผมขอเปิดเรื่องนึงขึ้นมาเป็น discussion ละกัน

การสร้างสื่อภาษาไทยเพื่อประกอบการเรียนรู้จะส่งผลดีต่อผู้เรียนหรือไม่?

หมายเหตุ: ข้อความต่อไปนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผมในปัจจุบัน ไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นในอดีตและอนาคตของผม ผมอาจเปลี่ยนใจเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

พอดีได้ไปคุยไอเดียคร่าวๆ กับหลายๆ คนแถวๆ นี้ ผมเลยมีคำถามว่า "การสร้างสื่อภาษาไทยเพื่อประกอบการเรียนรู้จะส่งผลดีต่อผู้เรียนหรือไม่?" ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจตรงกันก่อนว่า สื่อภาษาไทยในที่นี้หมายถึง สื่อในลักษณะใดก็ได้ที่มันเป็นภาษาไทย (เช่น บล็อก เว็บบอร์ด โปสเตอร์ เว็บไซต์ หรือแม้แต่โพสต์/เพจใน facebook)

คือผมเห็นไอเดียของหลายๆ คนในช่วงนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ว่าจะส่งเสริมให้เกิดสื่อการเรียนรู้ (ผมขอจำกัดความว่าเป็นสื่อออนไลน์เป็นหลักไปเลยแล้วกัน) เช่น เฉลยโจทย์การเขียนโปรแกรมต่างๆ หรือเว็บไซต์ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะทางคอมพิวเตอร์พื้นฐานอย่างการเขียนโปรแกรมหรือการออกแบบอัลกอริทึมเบื้องต้น แล้วผมเห็น argument นึงของหลายๆ คนมาในลักษณะที่ว่า "นี่ไง สื่อภาษาอังกฤษน่ะมันมีอยู่เยอะเต็มไปหมด แต่ไม่มีภาษาไทยสักที" ซึ่งพอผมฟังแล้วก็รู้สึกว่า เออใช่ เราก็ควรทำสื่อภาษาไทยออกมาบ้างเหมือนกันนะ แต่พอผมคิดไปคิดมาแล้วมันมี doubt ขึ้นมาเต็มไปหมดและก็เริ่มจะรู้สึกว่าบางทีมันอาจจะไม่คุ้ม

ข้อดี

ผมยกข้อดีก่อนเลยละกัน คือการสร้างสื่อภาษาไทยเนี่ยมันมีข้อดีอยู่ตรงหน้าเลยคือมันเข้าถึงโดยคนไทยได้ง่ายมากยิ่งขึ้น เทียบกับพวกสื่อภาษาอังกฤษ หรือสื่อที่เป็นภาษาอื่นที่ผมก็ยังอ่านไม่ออก (อืม ถ้าผมรู้ภาษาโปแลนด์ รัสเซีย ญี่ปุ่น ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ชีวิตผมอาจจะง่ายขึ้นหน่อย แต่ก็ช่างมันเถอะ ผมขอเอาฝรั่งเศสให้รอดก่อน) จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผม ผมก็พอจะเห็นว่ามีคนอยู่บางกลุ่มที่มีศักยภาพพอที่จะทำอะไรได้หลายอย่างแต่ติดกำแพงภาษา (อังกฤษ) ทำให้ไม่สามารถหาความรู้ในด้านนี้ด้วยตนเองได้ดีพอ นอกจากนี้ผม "รู้สึก" ว่ามีคนอยู่จำนวนไม่น้อยในประเทศไทยที่ติดกำแพงภาษาในลักษณะเดียวกัน (ผมใช้คำว่ารู้สึกเพราะว่ายังไม่มีโอกาสได้สำรวจประชากรอย่างจริงจัง)

ลองเทียบเคียงกับประสบการณ์ส่วนตัวผม หากผมไม่รู้ภาษาอังกฤษแล้วพยายามฝึกฝนการเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง ก็คงจะไปจบแค่ที่ programming.in.th ผมคงอ่านพวกบทความใน codeforces ไม่รู้เรื่อง และคงอ่านโจทย์ใน codeforces ไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ไม่ต้องคาดหวังว่าผมจะไปทำเว็บฝึกเขียนโปรแกรมของต่างชาติได้เลย ไม่ว่าจะเป็น codeforces, atcoder, leetcode, hackerrank, topcoder บลาๆ หรือแม้แต่การแข่งขันอย่าง CEOI, JOI, BOI, APIO, POI พวกตัวหลักๆ ในการฝึกคงมาจากโจทย์ IOI ที่มีคนแปลไทยไว้ให้แล้ว แล้วก็มีอยู่แค่นั้น ศักยภาพผมคงจะหายไปเกินครึ่ง

ผมจึงบอกได้เลยว่าการทำให้คนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษนั้น ได้รับ access ได้รับโอกาส ที่จะเข้าถึงข้อมูลพวกนี้มันเพิ่มโอกาสและดึงศักยภาพของบุคคลเหล่านี้ออกมาใช้ได้มากยิ่งขึ้นอย่างมหาศาล เหมือนเป็นทางออกที่ชัดเจนของปัญหานี้เลยก็ว่าได้

ข้อเสีย

แต่คิดไปคิดมา ผมก็ไปมองเห็นข้อเสียที่ร้ายแรงอันนึง มันคล้ายกับว่าเราเอาเงินไปบริจาคให้คนจนอ่ะ มันไม่ได้ทำให้คนหายจน แต่มันทำให้เค้ามีกินต่อไปอีกเดือนนึง ถ้าถามว่าทำยังไงเค้าถึงจะหายจน มันเป็นปัญหาที่ระบบ ที่เราจะเปิดโอกาสอะไรให้กับเขา เราสามารถดึงเขามาทำงานในระยะยาวอย่างไรได้บ้าง

ผมก็มองอีกมุมนึงแล้วรู้สึกว่า การสร้างสื่อภาษาไทยให้กับผู้เรียน มันจะเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรมแล้วทำให้ผู้เรียนไม่สนใจศึกษาภาษาอังกฤษ หรือเปล่า? คือผมก็มองว่าตอนผมเรียน ประถม - ม.ต้น หลักสูตรโรงเรียนผมมันจะมีวิชาแบบ MLP (สอนเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมกับครูต่างชาติ ปกติรู้สึกจะมี 4 ตัวคือ คณิต อังกฤษ วิทย์ สังคม มั้งถ้าผมจำไม่ผิด) คิดง่ายๆ ถ้าเรามองว่านี่ เด็กไม่รู้ภาษา เลยถอนวิชาพวกนี้ออก มันจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าเด็กก็จะเข้าใจเนื้อหามากขึ้น เพราะสัดส่วนเนื้อหาที่เป็นภาษาไทยมันสูงขึ้น แต่ข้อเสียที่ตามมาก็คือเราจะตามไม่ทันอะไรที่เป็นภาษาอังกฤษเลย

ผลลัพธ์ของการเติมวิชาเพิ่มเติมพวกนี้ไป มันอาจทำให้งานหนักขึ้น เยอะมากขึ้น แต่ผมก็ว่ามันคุ้มค่าอยู่นะ ถ้าคุณตั้งใจเรียนพอตั้งแต่เนิ่นๆ (แถวๆ ป.2 - ป.3) ปกติจะตามทันเนื้อหาที่เป็น MLP ทั้งหมด แล้วมันหนุนให้ผมสะดวกกับการเรียนเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้นจริงๆ (พูดได้ว่าส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผมชินกับการเรียนเป็นภาษาอังกฤษทุกวันนี้เลย ก็ว่าได้)

กลับมาที่เรื่องหลัก ถ้าเกิดว่าผู้เรียนมี access สู่สื่อภาษาไทยมากขึ้น มันทำให้ผม doubt ว่าการทำแบบนี้จะ ลดโอกาสที่ผู้เรียนจะหาความรู้ภาษาอังกฤษด้วยตัวเองลงหรือเปล่า? เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อภาษาไทยมันไม่ได้อยู่กับเราไปทั้งชีวิต โดยเฉพาะเรื่องที่ล้ำมากๆ เกินวงการไปมากจนแทบไม่มีคนไทยรู้จักเลย

ผมเลย flag วิธีการนี้ไว้ว่าเป็นวิธีการที่ ไม่ยั่งยืน (ผมอาจจะพูดแรงไปหน่อยแต่รู้สึกอย่างงั้นจริงๆ) แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะทำให้ผมต่อต้านสื่อภาษาไทยทุกอย่างไปเลย ผมแค่ flag ไว้ให้คิดเฉยๆ เผื่อว่าชุมชนคนแถวนี้ จะ come up with new solutions ที่จะไม่เป็นปัญหาตามที่ผมคิด

แนวคิดของผม

แน่นอนว่าผมก็คงจะพูดตามเดิมแหละ คือเวลาผมสอน เป้าหมายผมไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ที่ผมมีไปสู่ตัวผู้เรียน มันไม่ใช่เป้าผมตั้งแต่แรกอยู่แล้วล่ะ เป้าหมายผมคือการโยนแนวความคิดอันเล็กน้อย เล็กมากๆ หว่านออกไป เพื่อให้คนที่สนใจได้มีโอกาสไปศึกษาต่อด้วยตนเองในอนาคต บางครั้งเป้าหมายผมก็จะเป็นการ สร้างแรงขับเคลื่อนทางวิชาการในตัวผู้เรียน แต่ถ้าพูดถึงว่า สร้างองค์ความรู้ให้กับผู้เรียน อันนี้ค่อนข้างห่างไกลจากวัตถุประสงค์ของการมีอยู่ของผมไปพอสมควรเลย

กลับมาที่เรื่องของการสร้างสื่อเป็นภาษาไทย ด้วยเป้าหมายที่ผมอยากให้ผู้เรียนสามารถหาความรู้ด้วยตนเองถึงแม้จะไม่มีคนสอนแล้วก็ตาม ผมจึงยังไม่ค่อยเห็นด้วย (สำหรับตอนนี้) ที่จะสร้างสื่อภาษาไทย (เพราะพอคุณหยุดสร้าง ผู้เรียนก็จะหยุดเรียนเช่นกัน) และผมว่ามันมีโอกาสสูงมากที่แรงในการสร้างสื่อมันจะไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม สื่อที่เป็น community-based เนี่ยผมยังค่อนข้างสนับสนุนนะ ถึงจะเป็นภาษาไทยแต่มันเป็นสื่อที่ชุมชนช่วยกันสร้าง ขอแค่มี maintainer แล้วส่งต่อไปได้เรื่อยๆ ผมว่ามันเป็นไอเดียที่ไม่เลวเลยทีเดียว ผมว่ามันคุ้มกับข้อเสียที่ผมอ้างไป คือถ้ามันกระตุ้นให้คนมาช่วยกันเขียนมากขึ้น ต่อให้มันจะไปหยุดโอกาสที่จะศึกษาภาษาอังกฤษ อันนี้ผมว่ามันก็ไม่ค่อยเท่าไหร่แล้วแหละ

ความเห็น?

แล้วคุณล่ะ คิดเห็นอย่างไร? คิดว่าการสร้างสื่อเป็นภาษาไทยนั้นดีหรือไม่ อย่างไร? มาตอบๆ เถียงๆ แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ครับ (อย่าด่าแรงเกินไปก็โอเคละครับ 555555)